Disseminated Intravascular Coagulation

Disseminated Intravascular Coagulation (DIC)

 
DIC คือภาวะที่มีกระบวนการแข็งตัวของเลือดผิดปกติอันเป็นผลมาจากโรคทางระบบอื่น ๆ ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ส่งผลให้เกิดการล้มเหลวของอวัยวะที่เกี่ยวข้องตามมาหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ภาวะ DIC จะก่อให้เกิดการใช้ platelets, clotting factors และ regulation factors (เช่น antithrombin) มากผิดปกติและกลายเป็นภาวะ overt DIC ในที่สุด
 
DIC สามารถแบ่งออกเป็น 3 phases หลักได้แก่
1. Subclinical phase
2. Organ failure phase
3. Overt (bleeding) phase
ในบางตำราอาจแบ่งเป็น 2 phases คือ nonovert (compensated) phase และ over (uncompensated) phase
 
โรคที่มักเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ DIC
1. Infectious inflammatory เช่น sepsis, canine parvovirus, FIP, systemic fungal infection
2. Noninfectious inflammatory เช่น GDV, pancreatitis, trauma, heatstroke, envenomation, IMHA, hemangiosarcoma, acute leukaemia
 
อาการทางคลินิก
1. Subclinical หรือ nonovert phase DIC อาการที่พบไม่จำเพาะ และมักเป็นอาการของโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ DIC ในระยะนี้สัตว์จะมีลักษณะของ hypercoagulation condition
2. Organ failure phase สัตว์ในระยะนี้จะมีลักษณะของ organ dysfunction อันเนื่องมาจาก microthrombi ที่เกิดตามอวัยวะต่าง ๆ
3. Overt (bleeding) phase สัตว์ในระยะนี้จะอยู่ในภาวะ hypocoagulable bleeding phase เนื่องจาก clotting factors ได้ถูกใช้ไปในปริมาณมาก ทำให้เกิด signs ของ bleeding
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะ DIC สามารถเป็นแบบเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นได้ แต่ในบางรายภาวะนี้ก็อาจหายได้เอง (self-limiting) และไม่พัฒนาเข้าสู่ระยะ bleeding phase ได้เช่นกัน
 
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยภาวะ DIC ค่อนข้างยากและซับซ้อนเนื่องจากไม่มีค่าเลือดใด ๆ เพียงตัวเดียว หรืออาการทางคลินิกที่จำเพาะมากในการวินิจฉัย ดังนั้นจึงมีการใช้ระบบ scoring เข้ามาพิจารณาร่วมเพื่อช่วยให้ประกอบการวินิจฉัยได้ชัดเจนมากขึ้น อาทิ human scoring system for overt DIC (ตารางที่ 1)
 
ในทางสัตวแพทย์ viscoelastic testing (thromboelastogram) อาจนำมาใช้ในการช่วยจำแนก stage ของ DIC (hypercoagulable หรือ hypocoagulable stage) แต่ต้องพึงระวังว่าภาวะ anemia, thrombocytopenia และ hyperfibrinogenemia ส่งผลต่อการตรวจด้วยวิธีนี้ และอาจทำให้ค่าที่ได้มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
 
ภาวะ overt DIC มักพบภาวะ prolongation of coagulation times, thrombocytopenia, elevation of fibrinolysis markers (D-dimers and FDPs), hypofibrinogenemia, decreased antithrombin และ signs of red blood cell fragmentation ใน blood smear
 
เนื่องจากการตรวจค่าเลือดต่าง ๆ ในสัตว์ อาจไม่สามารถทำได้ครบถ้วนเท่าในคน ดังนั้นการวินิจฉัยภาวะ DIC ในทางปฏิบัติโดยมากจึงใช้หลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่โรคที่สัตว์ป่วยที่มีแนวโน้มสูงที่จะเหนี่ยวนำให้เกิด DIC ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงค่าของเลือดบางชนิดที่สามารถตรวจได้ มาประกอบกัน (ตารางที่ 2)
 
การรักษาภาวะ DIC
1. รักษาที่โรคที่เป็นสาเหตุหลัก และ supportive treatment เช่นการใช้ antimicrobials ในสัตว์ที่มีภาวะ sepsis การให้ intravenous fluids และ oxygen therapy
 
2. สัตว์ที่มีภาวะ overt DIC มีภาวะ active hemorrhage หรือมีความเสี่ยงในการ bleeding สูงมาก เช่น very low platelet count, high PT และ aPTT นอกเหนือจากการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุหลักแล้ว อาจพิจารณาให้ plasma transfusion เช่น fresh frozen plasma ในขนาด 15 ml/kg ในบางรายที่พบภาวะ severe anemia ร่วมด้วยสามารถใช้ fresh whole blood ได้
 
**Plasma transfusion ควรใช้เฉพาะกรณีที่สัตว์มี signs ของ bleeding หรือเพื่อ stabilize สัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการ bleed ในระหว่างการผ่าตัดเท่านั้น**
 
3. การใช้ heparin หรือ LMWH สามารถใช้ในสัตว์ที่มีภาวะ hypercoagulable state ได้ (normal or low PT, aPTT with mild decreased platelet number) เพื่อป้องกันการเกิดใหม่ของ thrombi แต่ปริมาณที่เหมาะสมที่ใช้ ผลต่ออัตราการรอดชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของอาการทางคลินิกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยขนาดที่สามารถใช้ได้คือ heparin ที่ 150 - 300 units/kg SC q 6 - 8 h, enoxaparin 0.8 - 1 mg/kg SC q 6 - 8 h หรือ dalteparin 150 units/kg SC q 8 h
 
**ไม่ควรให้ anticoagulant (heparin, LMWH) ในสัตว์ที่มีภาวะ DIC และมีภาวะ bleeding หรือมีความเสี่ยงสูงต่อ bleeding**
 
การพยากรณ์โรค และการติดตามการรักษา
การพยากรณ์โรคขึ้นกับระยะของ DIC โดยพบว่าสุนัขที่มีภาวะ DIC ใน bleeding มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60%
ควรทำการตรวจอาการทางคลินิก และค่าโลหิตวิทยาสม่ำเสมอ และควรตรวจค่า PT, aPTT, D-dimer, platelet count วันละ 1 ครั้ง เนื่องจาก DIC เป็น dynamic process เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าเหล่านี้ได้ตลอดเวลา และอาจช่วยประกอบในการตัดสินใจให้การรักษาเพิ่มเติม หรือพยากรณ์โรค
 
หมายเหตุ ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่ง แต่ถ้าแนะนำให้อ่านแบบฉบับง่าย แนะนำให้อ่านใน https://www.cliniciansbrief.com/article/disseminated-intravascular-coagulation ที่เขียนโดย Dr.Julien Guillaumin