VPAT Vet Nurse Activities

 

ประวัติความเป็นมาของโครงการ VPAT Veterinary Nurse

          เนื่องด้วยสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการสัตวแพทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานสถานพยาบาลสัตว์ให้ทัดเทียมกับสากล จึงได้จัดงานอบรมผู้ช่วยสัตวแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2552 ใน Pre-congressของงาน VRVC 2009 โดยสัตวแพทย์หญิง ดร.ศิรยา ชื่นกำไร เป็นประธานจัดงานและดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมในขณะนั้น การจัดงานในครั้งนั้นสร้างความตื่นตัวให้แก่วงการสัตวแพทย์ที่จะพัฒนางานทางด้านผู้ช่วยสัตวแพทย์เป็นอย่างมาก ดังนั้นในปีพุทธศักราช 2553 ทางสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทยจึงจัดตั้งโครงการ VPAT Veterinary Nurse ขึ้นมาเพื่อการดำเนินงานจัดงานอบรมผู้ช่วยสัตวแพทย์โดยเฉพาะ และได้รับเกียรติจาก ผศ.น.สพ.ดร. สุมิตร ดุรงค์พงษ์ธร มาดำรงตำแหน่งเป็นประธานโครงการ VPAT Veterinary Nurse เป็นคนแรก โครงการ VPAT Veterinary Nurse จึงดำเนินเรื่อยมาจนปัจจุบัน

          VPAT Veterinary Nurse ได้มีการจัดงานสัมมนาวิชาการในเชิงปฎิบัติการปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ความรู้ เพิ่มพูนทักษะและหัตถการด้านต่างๆที่จำเป็นสำหรับผู้ช่วยสัตวแพทย์ นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังเน้นด้านสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) โดยเฉพาะการจับบังคับสัตว์ป่วยแบบ low stress handing เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวสัตว์ป่วย

 

ทิศทางของผู้ช่วยสัตวแพทย์ไทยในอนาคต

       ในปัจจุบันงานทางด้านรักษาสัตว์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านความรู้วิชาการ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ทันสมัย และการคิดค้นยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ ความคาดหวังของผู้ที่นำสัตว์มารักษาก็มากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นการพัฒนาบุคคลากรทางการสัตวแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากสัตวแพทย์แล้ว การพัฒนาผู้ช่วยสัตวแพทย์ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน  เพราะผู้ช่วยสัตวแพทย์ที่ดีมักจะช่วยส่งเสริมการทำงานของสัตวแพทย์ให้ง่ายขึ้น ทั้งในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุดแก่สัตว์ป่วยมากขึ้น นอกจากนั้นผู้ช่วยสัตวแพทย์ที่ดียังช่วยในการติดต่อสื่อสารข้อมูลการรักษาที่มีประโยชน์ระหว่างสัตวแพทย์กับลูกค้าได้อีกด้วย

          งานด้านผู้ช่วยสัตวแพทย์เฉพาะและเป็นที่ต้องการในปัจจุบันได้แก่ ผู้ช่วยห้องผ่าตัด ผู้ช่วยช่วยวางยาสลบ ผู้ช่วยดูแลสัตว์ป่วยวิกฤต ผู้ช่วยดูแลสัตว์ป่วยฉุกเฉิน ผู้ช่วยประจำห้องปฏิบัติการ ผู้ช่วยด้านงานรังสีวินิจฉัย และผู้ช่วยกายภาพบำบัดสัตว์ เป็นต้น

          โครงการ VPAT Veterinary Nurse เห็นความสำคัญในการที่จะพัฒนาบุคลากรทางการสัตวแพทย์ไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ โดยจะจัดงานงานสัมมนาวิชาการในเชิงปฎิบัติการเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้มีความหลากหลาย และคุณภาพมากขึ้น และในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีการเรียนผ่านระบบ online เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงง่ายขึ้น หรือการอบรมระยะสั้นสำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรของผู้ช่วยสัตวแพทย์ขึ้น และในที่สุดอาจจะยกระดับงานสัมมานาผู้ช่วยสัตวแพทย์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

 

สพ.ญ.มัญญา ด่านพิทักษ์กุล

ประธานโครงการ VPAT Veterinary Nurse

 

ช่องทางการติดต่อ

Line ID: @krv5133q